วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

เอกลักษณ์ไทย







           นาฏศิลป์ไทยเป็นศิลปะการละคร หรือ ฟ้อนรำของไทย ที่มีกำเนิดมายาวนานควบคู่กับการพัฒนาการของชนชาติไทย และเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ซึ่งการแสดงนาฏศิลป์ชุดหนึ่งนอกจากจะได้รับความบันเทิงและสุนทรียภาพแล้ว ยังได้รับความรู้เกี่ยวกับ ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตของผู้คน ที่สอดแทรกอยู่ในการแสดงชุดนั้น ๆ ด้วย

          นอกจากนี้ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยยังเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญสาขาหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นชาติที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต มีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ตลอดจนมีพัฒนาการมาเป็นลำดับจนกระทั่งเป็นรูปแบบของดนตรีและนาฏศิลป์ประจำชาติ โดยเริ่มมีกำเนิดจากธรรมชาติ เลียนแบบจากกิริยาของคนและสัตว์ แล้วนำมาประดิษฐ์ดัดแปลงให้เป็นศิลปะที่งดงามด้วยลีลาท่ารำและเยื้องกรายให้เข้ากับทำนองดนตรีและเพลงขับร้อง อีกทั้งลักษณะเฉพาะตัวของคนไทย อิทธิพลของสังคมและศาสนา ก็มีส่วนในการสร้างรูปแบบดนตรีและนาฏศิลป์ไทยประจำชาติ การแสดงนาฏศิลป์ไทยถือเป็นสมบัติอันมีค่าของชาติ เป็นสิ่งที่แสดง หรือสะท้อนให้เห็นถึงอุปนิสัยใจคอของคนไทย ซึ่งมีอารมณ์สนุกสนานเบิกบาน มีความเมตตากรุณา มีความกล้าหาญ และ มีความอ่อนโยนละเอียดอ่อน สังเกตได้จากลักษณะการแสดงนาฏศิลป์ไทยจะมีความอ่อนโยน นิ่มนวล อ่อนช้อย และ สวยงาม


  นาฏ  ศิลป์ไทยมีลักษณะไม่เหมือนชาติใด ๆ การเคลื่อนไหวอิริยาบทที่แช่มช้า วง เหลี่ยมของ ละครไทย จะมีลักษณะเป็นเส้นโค้งสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน การแต่งกายประกอบด้วยอาภรณ์ที่มีสีสันแวววาวกระชับกับร่างกายอันบอบบาง และเครื่องประดับศีรษะที่เรียวแหลม ประดับด้วยอัญมณีที่สวยงาม ซึ่งเป็นความงามตามจารีตประเพณีหรือประเพณีนิยม สิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายนี้นับได้ว่าเป็เอกลักษณ์เฉพาะตัวของนาฏศิลป์ไทยที่ไม่เหมือนชาติใด

นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ


ภาคเหนือ


           จากสภาพภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยป่า มีทรัพยากรมากมาย มีอากาศหนาวเย็น ประชากรมีอุปนิสัยเยือกเย็น นุ่มนวล งดงาม รวมทั้งกิริยา การพูดจา มีสำเนียงน่าฟัง จึงมีอิทธิพลทำให้เพลงดนตรีและการแสดง มีท่วงทำนองช้า เนิบนาบ นุ่มนวล ตามไปด้วย การแสดงของภาคเหนือเรียกว่า ฟ้อน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น ภาคเหนือนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่ารำที่อ่อนช้อย นุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ  นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนมาลัย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง) ตีกลองสะบัดไชย ซอ ค่าว นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือ นอกจากมีของที่เป็น "คนเมือง" แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก(กิงกาหล่า - ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา)เป็นต้น


ฟ้อนสาวไหม



        ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนพื้นเมืองที่เลียนแบบมาจากการทอผ้าไหมของชาวบ้าน การฟ้อนสาวไหมเป็นการฟ้อนรำแบบเก่า เป็นท่าหนึ่งของฟ้อนเจิงซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับการฟ้อนดาบ ลีลาการฟ้อนเป็นจังหวะที่คล่องแคล่วและรวดเร็ว (สะดุดเป็นช่วง ๆ เหมือนการทอผ้าด้วยกี่กระตุก)ประมาณปี พ.ศ. 2500 คุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ได้คิดท่ารำขึ้นมาโดยอยู่ภายใต้การแนะนำของบิดา ท่ารำนี้ได้เน้นถึงการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและนุ่มนวล ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมในการป้องกันไม่ให้เส้นไหมพันกัน
ในปี พ.ศ. 2507 คุณพลอยศรี สรรพศรี ช่างฟ้อนเก่าในวังของเจ้าเชียงใหม่องค์สุดท้าย (เจ้าแก้วนวรัฐ) ได้ร่วมกับคุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ได้ขัดเกลาท่ารำขึ้นใหม่ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 คณะอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ได้คิดท่ารำขึ้นมาเป็นแบบฉบับของวิทยาลัยเองดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน จะใช้วงดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีสะล้อ ซอ ซึง เพลงร้องมักไม่นิยมนำมาแสดง จะมีแต่เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ แต่เดิมที่บิดาของคุณบัวเรียวใช้นั้นเป็นเพลงปราสาทไหว ส่วนคุณบัวเรียวจะใช้เพลงลาวสมเด็จ เมื่อมีการถ่ายทอดมา คณะครูนาฎศิลป์จึงได้เลือกสรรโดยใช้เพลง "ซอปั่นฝ้าย" ซึ่งมีท่วงทำนองเป็นเพลงซอทำนองหนึ่งที่นิยมกันในจังหวัดน่าน และมีลีลาที่สอดคล้องกับท่ารำ การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นเมือง คือนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแขนกระบอกห่มสไบทับ เกล้าผมมวยประดับดอกไม้



ฟ้อนผาง 



          เป็นศิลปะการฟ้อนที่มีมาแต่โบราณ เป็นการฟ้อนเพื่อบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ลีลาการฟ้อนดำเนินไปตามจังหวะของการตีกลองสะบัดชัย มือทั้งสองจะถือประทีปหรือผางผะตี้บ แต่เดิมใช้ผู้ชายแสดง ต่อมานายเจริญ จันทร์เพื่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ดำริให้คณะครูอาจารย์หมวดวิชานาฏศิลป์พื้นเมืองเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายมานพ ยาระณะ ศิลปินพื้นบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดท่าฟ้อนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่ารำโดยมีนายปรีชา งามระเบียบอาจารย์ 2 ระดับ 7รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่(ฝ่ายกิจกรรม) เป็นผู้ควบคุมการประดิษฐ์ท่ารำ 
การแต่งกายและทำนองเพลง ลักษณะการแต่งกายแต่งแบบชาวไทยลื้อ สวมเสื้อป้ายทับข้าง เรียกว่า “เสื้อปั๊ด” หรือ “เสื้อปั๊ดข้าง” ขลิบริมด้วยผ้าหลากสีเป็นริ้ว นุ่งผ้าซิ่นเป็นริ้วลายขวาง ประดับด้วยแผ่นเงิน รัดเข็มขัดเงินเส้นใหญ่ ติดพู่แผงเงิน ใส่ต่างหูเงินและสวมกำไลข้อมือเงินสำหรับทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงชุดฟ้อนผางให้ชื่อว่า “เพลงฟ้อนผาง” แต่งโดยนายรักเกียรติ ปัญญายศ อาจารย์ 3 ระดับ 8 หมวดวิชาเครื่องสายไทย 
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2556

รำวงมาตรฐาน


ประวัติความเป็นมาของรำวงมาตรฐาน

         "รำวงมาตรฐาน" เป็นการแสดงที่มีวิวัฒนาการมาจาก "รำโทน" (กรมศิลปากร, 2550 : 136-143)  เป็นการรำและการร้องของชาวบ้านซึ่งมีผู้รำทั้งชายและหญิง รำกันเป็นคู่ ๆ รอบ ๆ ครกตำข้าวที่วางคว่ำไว้ หรือไม่ก็รำกันเป็นวงกลม โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ลักษณะการรำและร้องเป็นไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนกำหนดไว้ คงเป็นการรำและร้องง่าย ๆ มุ่งเน้นที่ความสนุกสนานรื่นเริงเป็นสำคัญ เช่น เพลงช่อมาลี เพลงยวนยาเหล เพลงหล่อจริงนะดารา เพลงตามองตา เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด เป็นต้น ด้วยเหตุที่การรำชนิดนี้มีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ จึงเรียกการแสดงชุดนี้ว่า รำโทน
         ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2487 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการละเล่นรื่นเริงประจำชาติและเห็นว่าคนไทย นิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย ถ้าปรับปรุงการเล่นรำโทนให้เป็นระเบียบทั้งเพลงร้อง ลีลาท่ารำ และการแต่งกายจะทำให้การเล่นรำโทนเป็นที่น่านิยมมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงรำโทนเสียใหม่ให้เป็นมาตรฐาน มีการแต่งเนื้อร้องทำนองเพลง และนำท่ารำจากเพลงแม่บทมากำหนดเป็นท่ารำเฉพาะ แต่ละเพลงอย่างเป็นแบบแผน

         ทั้งนี้ การรำวงมาตรฐานประกอบด้วยเพลงทั้งหมด 10 เพลง โดย กรมศิลปากรแต่งเนื้อร้องจำนวน 4 เพลง ดังต่อไปนี้

1. เพลงงามแสงเดือน (Ngam Sang Duan
 คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์)
ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท    

         

        งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า         งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ (ซ้ำ)
เราเล่นกันเพื่อสนุก                                เปลื้องทุกข์วายระกำ
ขอให้เล่นฟ้อนรำ                                  เพื่อสามัคคีเอย

2.  เพลงชาวไทย (Chaw Thai)
          คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์)
          ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท

         ชาวไทยเจ้าเอ๋ย                          ขออย่าละเลยในการทำหน้าที่
การที่เราได้เล่นสนุก                             เปลื้องทุกข์สบายอย่างนี้
เพราะชาติเราได้เสรี                             มีเอกราชสมบูรณ์
เราจึงควรช่วยชูชาติ                             ให้เก่งกาจเจิดจำรูญ
เพื่อความสุขเพิ่มพูน                             ของชาวไทยเราเอย

3. เพลงรำซิมารำ (Ram ma si ma ram)
          คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ
          ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท
     
         รำมาซิมารำ                                  เริงระบำกันให้สนุก
ยามงานเราทำงานกันจริง ๆ                         ไม่ละไม่ทิ้งจะเกิดเข็ญขุก
ถึงยามว่างเราจึงรำเล่น                              ตามเชิงเช่นเพื่อให้สร่างทุกข์
ตามเยี่ยงอย่างตามยุค                               เล่นสนุกอย่างวัฒนธรรม
เล่นอะไรให้มีระเบียบ                                ให้งามให้เรียบจึงจะคมขำ
มาซิมาเจ้าเอ๋ยมาฟ้อนรำ                            มาเล่นระบำของไทยเราเอย

4.  เพลงคืนเดือนหงาย (Ken Dern Ngai)
          คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์)
          ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท
         

        ยามกลางคืนเดือนหงาย                     เย็นพระพายโบกพริ้วปลิวมา
เย็นอะไรก็ไม่เย็นจิต                                 เท่าเย็นผูกมิตรไม่เบื่อระอา
เย็นร่มธงไทยปกไปทั่วหล้า                         เย็นยิ่งน้ำฟ้ามาประพรมเอย



โดย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลย์สงครามแต่งเนื้อร้องเพิ่มอีก 6 เพลง ดังนี้

5.  เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ (Dong jan wan pen)
          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง
          ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท
        
         ดวงจันทร์วันเพ็ญ                       ลอยเด่นอยู่ในนภา
ทรงกลดสดสี                                      รัศมีทอแสงงามตา
แสงจันทร์อร่าม                                    ฉายงามส่องฟ้า
ไม่งามเท่าหน้า                                     นวลน้องยองใย
                               
             งามเอยแสงงาม                                งามจริงยอดหญิงชาติไทย
งามวงพักตร์ยิ่งดวงจันทรา                        จริตกิริยานิ่มนวลละไม
วาจากังวาน                                        อ่อนหวานจับใจ
รูปทรงสมส่วน                                      ยั่วยวนหทัย
สมเป็นดอกไม้                                      ขวัญใจชาติเอย

6. เพลง ดอกไม้ของชาติ (Dok mai kong chat) 
          คำร้อง :  ท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลสงคราม
          ทำนอง : อาจารย์มนตรี  ตราโมท
       

                                                                 (สร้อย)

                     ขวัญใจดอกไม้ของชาติ                      งามวิลาศนวยนาดร่ายรำ (ซ้ำ)
                    เอวองค์อ่อนงาม                               ตามแบบนาฏศิลป์
                   ชี้ชาติไทยเนาว์ถิ่น                            เจริญวัฒนธรรม
                                                
                                                                (สร้อย)

                  งามทุกสิ่งสามารถ                               สร้างชาติช่วยชาย
                  ดำเนินตามนโยบาย                           สู้ทนเหนื่อยยากตรากตรำ
                                                            
                                                                (สร้อย)

 7.  เพลงหญิงไทยใจงาม (Ying Thai Jai Ngam)
          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
          ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน
     
                                        เดือนพราว                               ดาวแวววาวระยับ
                              แสงดาวประดับ                                   ส่งให้เดือนงามเด่น
                             ดวงหน้า                                           โสภาเพียงเดือนเพ็ญ
                             คุณความดีที่เห็น                                  เสริมให้เด่นเลิศงาม
                             ขวัญใจ                                             หญิงไทยส่งศรีชาติ
                             รูปงามพิลาศ                                       ใจกล้ากาจเรืองนาม
                             เกียรติยศ                                           ก้องปรากฏทั่วคาม
                            หญิงไทยใจงาม                                    ยิ่งเดือนดาวพราวแพรว

8. เพลง ดวงจันทร์ขวัญฟ้า (Dong Jan Kwan Fa)
          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง
          ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน
       
                         
                                   ดวงจันทร์ขวัญฟ้า                      ชื่นชีวาขวัญพี่
                          จันทร์ประจำราตรี                                  แต่ขวัญพี่ประจำใจ
                          ที่เทิดทูนคือชาติ                                  เอกราชอธิปไตย
                          ถนอมแนบสนิทใน                                 คือขวัญใจพี่เอย


   9.  เพลงยอดชายใจหาญ (Yod Shy Jai Han)
          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง
          ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน
       
                            
                                     โอ้ยอดชายใจหาญ                     ขอสมานไมตรี
                         น้องขอร่วมชีวี                                     กอร์ปกรณีกิจชาติ
                         แม้สุดยากลำเค็ญ                                 ไม่ขอเว้นเดินตาม
                         น้องจักสู้พยายาม                                  ทำเต็มความสามารถ

10. เพลงบูชานักรบ (Boo Cha Nak Rop)
          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง  
          ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน
        
                                     น้องรักรักบูชาพี่                       ที่มั่นคงที่มั่นคงกล้าหาญ
                            เป็นนักสู้เชี่ยวชาญ                              สมศักดิ์ชาตินักรบ
                           น้องรักรักบูชาพี่                                 ที่มานะที่มานะอดทน
                           หนักแสนหนักพี่ผจญ                           เกียรติพี่ขจรจบ
                          น้องรักรักบูชาพี่                                  ที่ขยันที่ขยันกิจการ
                          บากบั่นสร้างหลักฐาน                           ทำทุกด้านทำทุกด้านครันครบ
                          น้องรักรักบูชาพี่                                  ที่รักชาติที่รักชาติยิ่งชีวิต
                          เลือดเนื้อพี่พลีอุทิศ                               ชาติยงอยู่ยงอยู่คู่พิภพ


          ท่ารําวงมาตรฐาน ที่กำหนดไว้เป็นแบบแผนทั้ง 10 เพลง ดังนี้


เพลง  ท่ารำชาย ท่ารำหญิง
 เพลงงามแสงเดือน  ท่าสอดสร้อยมาลา  ท่าสอดสร้อยมาลา
 เพลงชาวไทย    ท่าชักแป้งผัดหน้า     ท่าชักแป้งผัดหน้า 
 เพลงรำมาซิมารำ   ท่ารำส่าย    ท่ารำส่าย 
 เพลงคืนเดือนหงาย   ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง    ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง
 เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ   ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่  ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่
 เพลงดอกไม้ของชาติ  ท่ารำยั่ว  ท่ารำยั่ว
 เพลงหญิงไทยใจงาม  ท่าพรหมสี่หน้า และท่ายูงฟ้อนหาง  ท่าพรหมสี่หน้า และท่ายูงฟ้อนหาง
 เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า   ท่าช้างประสานงา ชายท่าจันทร์ทรงกลด  ท่าช้างประสานงา ชายท่าจันทร์ทรงกลด
 เพลงยอดชายใจหาญ   ท่าจ่อเพลิงกาล     ท่าชะนีร่ายไม้
 เพลงบูชานักรบ  ท่าจันทร์ทรงกลด และท่าขอแก้ว  ท่าขัดจางนาง และท่าล่อแก้ว
              
      
          รำวงมาตรฐาน  เป็นการรำหมู่ประกอบด้วยผู้แสดง 8 คน ท่ารำประดิษฐ์ขึ้นจากท่ารำมาตรฐานในเพลงแม่บท ความสวยงามของการรำ อยู่ที่กระบวนท่ารำที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละเพลงและเครื่องแต่งกายไทยในสมัย ต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบการแสดงในลักษณะการแปรแถวเป็นวงกลม การรำแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้ ดังนี้

          ขั้นตอนที่ 1 :
ผู้แสดงชายและหญิง  เดินออกมาเป็นแถวตรง 2 แถว หันหน้าเข้าหากัน  ต่างฝ่ายทำความเคารพด้วยการไหว้

          ขั้นตอนที่ 2 : รำแปรแถวเป็นวงกลมตามทำนองเพลงและรำตามบทร้อง  รวม 10 เพลง โดยเปลี่ยนท่ารำไปตามเพลงต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลงรำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ

          ขั้นตอนที่ 3 : เมื่อรำจบบทร้องในเพลงที่ 10 ผู้แสดงรำเข้าเวทีทีละคู่ ตามทำนองเพลงจนจบ
การแต่งกาย


           มีการกำหนดการแต่งกายของผู้แสดง ให้มีระเบียบด้วยการใช้ชุดไทย และชุดสากลนิยม โดยแต่งเป็นคู่ ๆ รับกันทั้งชายและหญิง ซึ่งสามารถแต่งได้ 4 แบบ  คือ
แบบที่ 1  แบบชาวบ้าน
          ชาย : นุ่งผ้าโจงกระเบน  สวมเสื้อคอพวงมาลัย เอวคาดผ้าห้อยชายด้านหน้า          หญิง : นุ่งโจงกระเบน  ห่มผ้าสไบอัดจีบ ปล่อยผม  ประดับดอกไม้ที่ผมด้านซ้าย คาดเข็มขัดใส่เครื่องประดับ
แบบที่ 2  แบบรัชกาลที่ 5

          ชาย : นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน  ใส่ถุงเท้ารองเท้า          หญิง : นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อลูกไม้ สไบพาดบ่าผูกเป็นโบว์ ทิ้งชายไว้ข้างลำตัวด้านซ้าย ใส่เครื่องประดับมุก

แบบที่ 3  แบบสากลนิยม
          ชาย : นุ่งกางเกง สวมสูท ผูกเนคไท          หญิง : นุ่งกระโปรงป้ายข้าง ยาวกรอมเท้า ใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก

แบบที่  4  แบบราตรีสโมสร
          ชาย : นุ่งกางเกง สวมเสื้อคอพระราชทาน ผ้าคาดเอวห้อยชายด้านหน้า
          หญิง : นุ่งโปรงยาวจีบหน้านาง  ใส่เสื้อจับเดฟ ชายผ้าห้อยจากบ่าลงไปทางด้านล่าง เปิดไหล่ขวา ศีรษะทำผมเกล้าเป็นมวยสูง ใส่เกี้ยว และเครื่องประดับ