วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ


ภาคเหนือ


           จากสภาพภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยป่า มีทรัพยากรมากมาย มีอากาศหนาวเย็น ประชากรมีอุปนิสัยเยือกเย็น นุ่มนวล งดงาม รวมทั้งกิริยา การพูดจา มีสำเนียงน่าฟัง จึงมีอิทธิพลทำให้เพลงดนตรีและการแสดง มีท่วงทำนองช้า เนิบนาบ นุ่มนวล ตามไปด้วย การแสดงของภาคเหนือเรียกว่า ฟ้อน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น ภาคเหนือนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่ารำที่อ่อนช้อย นุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ  นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนมาลัย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง) ตีกลองสะบัดไชย ซอ ค่าว นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือ นอกจากมีของที่เป็น "คนเมือง" แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก(กิงกาหล่า - ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา)เป็นต้น


ฟ้อนสาวไหม



        ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนพื้นเมืองที่เลียนแบบมาจากการทอผ้าไหมของชาวบ้าน การฟ้อนสาวไหมเป็นการฟ้อนรำแบบเก่า เป็นท่าหนึ่งของฟ้อนเจิงซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับการฟ้อนดาบ ลีลาการฟ้อนเป็นจังหวะที่คล่องแคล่วและรวดเร็ว (สะดุดเป็นช่วง ๆ เหมือนการทอผ้าด้วยกี่กระตุก)ประมาณปี พ.ศ. 2500 คุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ได้คิดท่ารำขึ้นมาโดยอยู่ภายใต้การแนะนำของบิดา ท่ารำนี้ได้เน้นถึงการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและนุ่มนวล ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมในการป้องกันไม่ให้เส้นไหมพันกัน
ในปี พ.ศ. 2507 คุณพลอยศรี สรรพศรี ช่างฟ้อนเก่าในวังของเจ้าเชียงใหม่องค์สุดท้าย (เจ้าแก้วนวรัฐ) ได้ร่วมกับคุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ได้ขัดเกลาท่ารำขึ้นใหม่ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 คณะอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ได้คิดท่ารำขึ้นมาเป็นแบบฉบับของวิทยาลัยเองดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน จะใช้วงดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีสะล้อ ซอ ซึง เพลงร้องมักไม่นิยมนำมาแสดง จะมีแต่เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ แต่เดิมที่บิดาของคุณบัวเรียวใช้นั้นเป็นเพลงปราสาทไหว ส่วนคุณบัวเรียวจะใช้เพลงลาวสมเด็จ เมื่อมีการถ่ายทอดมา คณะครูนาฎศิลป์จึงได้เลือกสรรโดยใช้เพลง "ซอปั่นฝ้าย" ซึ่งมีท่วงทำนองเป็นเพลงซอทำนองหนึ่งที่นิยมกันในจังหวัดน่าน และมีลีลาที่สอดคล้องกับท่ารำ การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นเมือง คือนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแขนกระบอกห่มสไบทับ เกล้าผมมวยประดับดอกไม้



ฟ้อนผาง 



          เป็นศิลปะการฟ้อนที่มีมาแต่โบราณ เป็นการฟ้อนเพื่อบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ลีลาการฟ้อนดำเนินไปตามจังหวะของการตีกลองสะบัดชัย มือทั้งสองจะถือประทีปหรือผางผะตี้บ แต่เดิมใช้ผู้ชายแสดง ต่อมานายเจริญ จันทร์เพื่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ดำริให้คณะครูอาจารย์หมวดวิชานาฏศิลป์พื้นเมืองเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายมานพ ยาระณะ ศิลปินพื้นบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดท่าฟ้อนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่ารำโดยมีนายปรีชา งามระเบียบอาจารย์ 2 ระดับ 7รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่(ฝ่ายกิจกรรม) เป็นผู้ควบคุมการประดิษฐ์ท่ารำ 
การแต่งกายและทำนองเพลง ลักษณะการแต่งกายแต่งแบบชาวไทยลื้อ สวมเสื้อป้ายทับข้าง เรียกว่า “เสื้อปั๊ด” หรือ “เสื้อปั๊ดข้าง” ขลิบริมด้วยผ้าหลากสีเป็นริ้ว นุ่งผ้าซิ่นเป็นริ้วลายขวาง ประดับด้วยแผ่นเงิน รัดเข็มขัดเงินเส้นใหญ่ ติดพู่แผงเงิน ใส่ต่างหูเงินและสวมกำไลข้อมือเงินสำหรับทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงชุดฟ้อนผางให้ชื่อว่า “เพลงฟ้อนผาง” แต่งโดยนายรักเกียรติ ปัญญายศ อาจารย์ 3 ระดับ 8 หมวดวิชาเครื่องสายไทย 
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น