ประวัติความเป็นมาของรำวงมาตรฐาน
"รำวงมาตรฐาน" เป็นการแสดงที่มีวิวัฒนาการมาจาก "รำโทน"
(กรมศิลปากร, 2550 : 136-143)
เป็นการรำและการร้องของชาวบ้านซึ่งมีผู้รำทั้งชายและหญิง รำกันเป็นคู่ ๆ
รอบ ๆ ครกตำข้าวที่วางคว่ำไว้ หรือไม่ก็รำกันเป็นวงกลม
โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ลักษณะการรำและร้องเป็นไปตามความถนัด
ไม่มีแบบแผนกำหนดไว้ คงเป็นการรำและร้องง่าย ๆ
มุ่งเน้นที่ความสนุกสนานรื่นเริงเป็นสำคัญ เช่น เพลงช่อมาลี เพลงยวนยาเหล
เพลงหล่อจริงนะดารา เพลงตามองตา เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด เป็นต้น
ด้วยเหตุที่การรำชนิดนี้มีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ
จึงเรียกการแสดงชุดนี้ว่า รำโทน
ต่อมา เมื่อปี
พ.ศ.2487 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการละเล่นรื่นเริงประจำชาติและเห็นว่าคนไทย
นิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย
ถ้าปรับปรุงการเล่นรำโทนให้เป็นระเบียบทั้งเพลงร้อง ลีลาท่ารำ
และการแต่งกายจะทำให้การเล่นรำโทนเป็นที่น่านิยมมากยิ่งขึ้น
จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงรำโทนเสียใหม่ให้เป็นมาตรฐาน
มีการแต่งเนื้อร้องทำนองเพลง และนำท่ารำจากเพลงแม่บทมากำหนดเป็นท่ารำเฉพาะ
แต่ละเพลงอย่างเป็นแบบแผน
ทั้งนี้ การรำวงมาตรฐานประกอบด้วยเพลงทั้งหมด 10 เพลง โดย กรมศิลปากรแต่งเนื้อร้องจำนวน 4 เพลง ดังต่อไปนี้
1. เพลงงามแสงเดือน (Ngam Sang Duan)
คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์)
ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท
งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ (ซ้ำ)
เราเล่นกันเพื่อสนุก เปลื้องทุกข์วายระกำ
ขอให้เล่นฟ้อนรำ เพื่อสามัคคีเอย
2. เพลงชาวไทย (Chaw Thai) คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์)
ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท
ชาวไทยเจ้าเอ๋ย ขออย่าละเลยในการทำหน้าที่
การที่เราได้เล่นสนุก เปลื้องทุกข์สบายอย่างนี้
เพราะชาติเราได้เสรี มีเอกราชสมบูรณ์
เราจึงควรช่วยชูชาติ ให้เก่งกาจเจิดจำรูญ
เพื่อความสุขเพิ่มพูน ของชาวไทยเราเอย
3. เพลงรำซิมารำ (Ram ma si ma ram) คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ
ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท
รำมาซิมารำ เริงระบำกันให้สนุก
ยามงานเราทำงานกันจริง ๆ ไม่ละไม่ทิ้งจะเกิดเข็ญขุก
ถึงยามว่างเราจึงรำเล่น ตามเชิงเช่นเพื่อให้สร่างทุกข์
ตามเยี่ยงอย่างตามยุค เล่นสนุกอย่างวัฒนธรรม
เล่นอะไรให้มีระเบียบ ให้งามให้เรียบจึงจะคมขำ
มาซิมาเจ้าเอ๋ยมาฟ้อนรำ มาเล่นระบำของไทยเราเอย
4. เพลงคืนเดือนหงาย (Ken Dern Ngai) คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์)
ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท
ยามกลางคืนเดือนหงาย เย็นพระพายโบกพริ้วปลิวมา
เย็นอะไรก็ไม่เย็นจิต เท่าเย็นผูกมิตรไม่เบื่อระอา
เย็นร่มธงไทยปกไปทั่วหล้า เย็นยิ่งน้ำฟ้ามาประพรมเอย
โดย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลย์สงครามแต่งเนื้อร้องเพิ่มอีก 6 เพลง ดังนี้
5. เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ (Dong jan wan pen)
คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง
ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท
ดวงจันทร์วันเพ็ญ ลอยเด่นอยู่ในนภา
ทรงกลดสดสี รัศมีทอแสงงามตา
แสงจันทร์อร่าม ฉายงามส่องฟ้า
ไม่งามเท่าหน้า นวลน้องยองใย
งามเอยแสงงาม งามจริงยอดหญิงชาติไทย
งามวงพักตร์ยิ่งดวงจันทรา จริตกิริยานิ่มนวลละไม
วาจากังวาน อ่อนหวานจับใจ
รูปทรงสมส่วน ยั่วยวนหทัย
สมเป็นดอกไม้ ขวัญใจชาติเอย
6. เพลง ดอกไม้ของชาติ (Dok mai kong chat)
คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท
(สร้อย) ขวัญใจดอกไม้ของชาติ งามวิลาศนวยนาดร่ายรำ (ซ้ำ) เอวองค์อ่อนงาม ตามแบบนาฏศิลป์ ชี้ชาติไทยเนาว์ถิ่น เจริญวัฒนธรรม (สร้อย) งามทุกสิ่งสามารถ สร้างชาติช่วยชาย ดำเนินตามนโยบาย สู้ทนเหนื่อยยากตรากตรำ (สร้อย)
7. เพลงหญิงไทยใจงาม (Ying Thai Jai Ngam)
คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน
เดือนพราว ดาวแวววาวระยับ แสงดาวประดับ ส่งให้เดือนงามเด่น ดวงหน้า โสภาเพียงเดือนเพ็ญ คุณความดีที่เห็น เสริมให้เด่นเลิศงาม ขวัญใจ หญิงไทยส่งศรีชาติ รูปงามพิลาศ ใจกล้ากาจเรืองนาม เกียรติยศ ก้องปรากฏทั่วคาม หญิงไทยใจงาม ยิ่งเดือนดาวพราวแพรว
8. เพลง ดวงจันทร์ขวัญฟ้า (Dong Jan Kwan Fa)
คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง
ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ดวงจันทร์ขวัญฟ้า ชื่นชีวาขวัญพี่ จันทร์ประจำราตรี แต่ขวัญพี่ประจำใจ ที่เทิดทูนคือชาติ เอกราชอธิปไตย ถนอมแนบสนิทใน คือขวัญใจพี่เอย
9. เพลงยอดชายใจหาญ (Yod Shy Jai Han)
คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง
ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน
โอ้ยอดชายใจหาญ ขอสมานไมตรี น้องขอร่วมชีวี กอร์ปกรณีกิจชาติ แม้สุดยากลำเค็ญ ไม่ขอเว้นเดินตาม น้องจักสู้พยายาม ทำเต็มความสามารถ
10. เพลงบูชานักรบ (Boo Cha Nak Rop)
คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง
ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน
น้องรักรักบูชาพี่ ที่มั่นคงที่มั่นคงกล้าหาญ เป็นนักสู้เชี่ยวชาญ สมศักดิ์ชาตินักรบ น้องรักรักบูชาพี่ ที่มานะที่มานะอดทน หนักแสนหนักพี่ผจญ เกียรติพี่ขจรจบ น้องรักรักบูชาพี่ ที่ขยันที่ขยันกิจการ บากบั่นสร้างหลักฐาน ทำทุกด้านทำทุกด้านครันครบ น้องรักรักบูชาพี่ ที่รักชาติที่รักชาติยิ่งชีวิต เลือดเนื้อพี่พลีอุทิศ ชาติยงอยู่ยงอยู่คู่พิภพ
ท่ารําวงมาตรฐาน ที่กำหนดไว้เป็นแบบแผนทั้ง 10 เพลง ดังนี้
เพลง |
ท่ารำชาย |
ท่ารำหญิง |
เพลงงามแสงเดือน |
ท่าสอดสร้อยมาลา |
ท่าสอดสร้อยมาลา |
เพลงชาวไทย |
ท่าชักแป้งผัดหน้า |
ท่าชักแป้งผัดหน้า |
เพลงรำมาซิมารำ |
ท่ารำส่าย |
ท่ารำส่าย |
เพลงคืนเดือนหงาย |
ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง |
ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง |
เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ |
ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่ |
ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่ |
เพลงดอกไม้ของชาติ |
ท่ารำยั่ว |
ท่ารำยั่ว |
เพลงหญิงไทยใจงาม |
ท่าพรหมสี่หน้า และท่ายูงฟ้อนหาง |
ท่าพรหมสี่หน้า และท่ายูงฟ้อนหาง |
เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า |
ท่าช้างประสานงา ชายท่าจันทร์ทรงกลด |
ท่าช้างประสานงา ชายท่าจันทร์ทรงกลด |
เพลงยอดชายใจหาญ |
ท่าจ่อเพลิงกาล |
ท่าชะนีร่ายไม้ |
เพลงบูชานักรบ |
ท่าจันทร์ทรงกลด และท่าขอแก้ว |
ท่าขัดจางนาง และท่าล่อแก้ว |
รำวงมาตรฐาน
เป็นการรำหมู่ประกอบด้วยผู้แสดง 8 คน
ท่ารำประดิษฐ์ขึ้นจากท่ารำมาตรฐานในเพลงแม่บท ความสวยงามของการรำ
อยู่ที่กระบวนท่ารำที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละเพลงและเครื่องแต่งกายไทยในสมัย
ต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบการแสดงในลักษณะการแปรแถวเป็นวงกลม
การรำแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : ผู้แสดงชายและหญิง เดินออกมาเป็นแถวตรง 2 แถว หันหน้าเข้าหากัน ต่างฝ่ายทำความเคารพด้วยการไหว้ ขั้นตอนที่ 2 :
รำแปรแถวเป็นวงกลมตามทำนองเพลงและรำตามบทร้อง รวม 10 เพลง
โดยเปลี่ยนท่ารำไปตามเพลงต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย
เพลงรำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ
เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ ขั้นตอนที่ 3 : เมื่อรำจบบทร้องในเพลงที่ 10 ผู้แสดงรำเข้าเวทีทีละคู่ ตามทำนองเพลงจนจบ
การแต่งกาย
มีการกำหนดการแต่งกายของผู้แสดง ให้มีระเบียบด้วยการใช้ชุดไทย
และชุดสากลนิยม โดยแต่งเป็นคู่ ๆ รับกันทั้งชายและหญิง ซึ่งสามารถแต่งได้ 4
แบบ คือแบบที่ 1 แบบชาวบ้าน ชาย : นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อคอพวงมาลัย เอวคาดผ้าห้อยชายด้านหน้า หญิง : นุ่งโจงกระเบน ห่มผ้าสไบอัดจีบ ปล่อยผม ประดับดอกไม้ที่ผมด้านซ้าย คาดเข็มขัดใส่เครื่องประดับ
แบบที่ 2 แบบรัชกาลที่ 5
ชาย : นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน ใส่ถุงเท้ารองเท้า หญิง : นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อลูกไม้ สไบพาดบ่าผูกเป็นโบว์ ทิ้งชายไว้ข้างลำตัวด้านซ้าย ใส่เครื่องประดับมุก
แบบที่ 3 แบบสากลนิยม ชาย : นุ่งกางเกง สวมสูท ผูกเนคไท หญิง : นุ่งกระโปรงป้ายข้าง ยาวกรอมเท้า ใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก
แบบที่ 4 แบบราตรีสโมสร ชาย : นุ่งกางเกง สวมเสื้อคอพระราชทาน ผ้าคาดเอวห้อยชายด้านหน้า หญิง :
นุ่งโปรงยาวจีบหน้านาง ใส่เสื้อจับเดฟ ชายผ้าห้อยจากบ่าลงไปทางด้านล่าง
เปิดไหล่ขวา ศีรษะทำผมเกล้าเป็นมวยสูง ใส่เกี้ยว และเครื่องประดับ